ประเภทของรถไถเดินตาม

ประเภทของรถไถเดินตาม
การแบ่งรถไถเดินตาม อาจแบ่งลักษณะการใช้งานได้ ๓ แบบ
         ๑. รถไถเดินตามแบบใช้ลาก ไถ และอุปกรณ์อื่นๆ แต่เพียงอย่างเดียว เป็นรถไถที่นิยมใช้กันมากในประเทศไทย มีทั้งชนิดผลักเลี้ยวและชนิดบีบเลี้ยว
         ๒. รถไถเดินตามแบบติดจอบหมุนอย่างเดียวใช้ในการเตรียมดินสำหรับไร่นาสวนผสม การใช้จอบหมุนจะเป็นการรวมขั้นตอนของการไถดะและไถพรวนไปในตัว เป็นรถไถที่นำเข้าจากต่างประเทศ
         ๓. รถไถเดินตามแบบผสม เป็นรถไถเดินตามที่ใช้ทั้งแบบที่ ๑ และแบบที่ ๒

        รถไถเดินตามที่ใช้กันแพร่หลายนั้นผลิตโดยคนไทย รวมทั้งอุปกรณ์ติดตั้งและชิ้นส่วนต่างๆด้วย แบ่งออกเป็น ๓ ประเภทดังนี้
         ๑. ประเภทผลักเลี้ยว แบบประเภทผลักเลี้ยวผลิตในประเทศทั้งหมด รถประเภทนี้ไม่มีระบบเลี้ยว ถ้าจะเลี้ยวไปทิศทางใดก็จะใช้แรงผลักไปทิศทางนั้นประเภทนี้เหมาะสำหรับการไถนาแปลงใหญ่เพราะไม่ต้องเลี้ยวบ่อยๆ การใช้งานจะต้องออกแรงมากกว่าประเภทบีบเลี้ยว รถไถเดินตามประเภทนี้แบ่งออกเป็นแบบ ๓ เพลา และแบบ๔ เพลา เพลานี้จะอยู่ในห้องเฟือง โดยเหตุที่ขนาดของห้องเฟืองมีขนาดใกล้เคียงกัน รถไถแบบ๔ เพลา จึงมีระยะกระชาก ทำให้โซ่ขาดบ่อย มีส่วนดีก็คืออัตราการทดรอบระหว่างแต่ละคู่ต่ำกว่าแบบ ๓ เพลา ทำให้ประสิทธิภาพการส่งถ่าย กำลังดีกว่า
         ๒. ประเภทบีบเลี้ยว รถไถประเภทนี้ถ้าต้องการเลี้ยวข้างไหนก็บีบที่ก้านมือจับด้านนั้น ระบบนี้จึงมีความคล่องตัวสูง เบาแรง และปัจจุบันเป็นที่นิยมของเกษตรกร
         ๓. ประเภทบีบเลี้ยว มีเกียร์ รถไถประเภทนี้ได้พัฒนาจากรถไถประเภทที่สอง โดยเพิ่มเกียร์เดินหน้าและถอยหลัง ทำให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน เกษตรกรนิยมใช้กันมาก  เพราะนอกจากใช้อุปกรณ์สำหรับไถนาแล้วยังนำไปลากรถพ่วงหรือรถสาลี่ เพื่อบรรทุกผลิตผลการเกษตร รถประเภทนี้นอกจากผลิตภายในประเทศแล้ว ยังมีการนำเข้าจากต่างประเทศ แบบที่ผลิตจากต่างประเทศส่วนมากจะมีแกนเพลาส่งถ่ายกำลังมาทางด้านหลัง เพื่อขับจอบหมุนหรืออุปกรณ์ทางการเกษตรอื่นๆ  ทำให้สามารถใช้งานกว้างขวางมากขึ้น เช่น ใช้ในไร่นาสวนผสม แต่มีราคาสูงกว่าประเภทบีบเลี้ยว ๓-๔ เท่า
        ส่วนประกอบอื่นของรถไถเดินตามทั้ง ๓แบบ คือ โครงยึดเครื่องยนต์ โครงแขนบังคับการขับเคลื่อน และล้อขับเคลื่อน โครงยึดเครื่องยนต์เป็นส่วนที่จะวางตำแหน่งเครื่องยนต์ซึ่งจะทำให้เกิดความสมดุลและช่วยในการทรงตัวของรถ โครงยึดเครื่องยนต์นี้จะมีความยาวอยู่ระหว่าง ๗๐-๑๐๐ ซม. เครื่องยนต์ต้นกำลังนี้จะใส่เครื่องยนต์เบนซินขนาด ๕-๘ แรงม้า แต่ส่วนใหญ่เกษตรกรจะนิยมใช้เครื่องยนต์ดีเซลขนาด๘-๑๐ แรงม้า ถึงแม้เครื่องยนต์เบนซินจะมีราคาต่ำเมื่อเปรียบกับแรงม้าเท่าๆ กัน เนื่องจากเครื่องยนต์ดีเซลมีความแข็งแรงทนทานต่อการใช้งานหนักค่าน้ำมันเชื้อเพลิงถูกกว่า นอกจากนั้นยังให้กำลังม้าสูงที่รอบต่ำ ทำให้อัตราทดของเกียร์และขนาดของห้องเกียร์ลดลง  เครื่องยนต์นี้จะวางอยู่บนโครงแขนยึดเครื่อง และสามารถเลื่อนได้เพื่อความสะดวกในการปรับความตึงของสายพานที่ส่งกำลังจากเครื่องยนต์ไปยังห้องเฟือง  โครงแขนบังคับเลี้ยว จะอยู่ติดกับห้องเกียร์ แขนบังคับจะมีความยาวประมาณ ๑๓๐-๒๐๐ ซม. ส่วนรถใช้บีบเลี้ยวความยาวของแขนจะสั้นกว่า เพราะไม่ต้องใช้ความยาวของแขนเหนี่ยวโหนขณะเลี้ยวส่วนปลายแขนจะมีก้านบีบเลี้ยวอยู่ที่มือจับ  หากเป็นรถมีเกียร์จะมีเกียร์ขึ้นมา ปัจจุบันมีเกียร์เดินหน้าถึง ๒ เกียร์ และมีเกียร์ถอยหลัง ๑ เกียร์นอกจากนั้นจะมีลูกเตะสายพาน และคันเร่งน้ำมัน
เป็นต้น ล้อขับเคลื่อน ล้อของรถไถเดินตามเป็นล้อทำด้วยเหล็กมีแผ่นครีบติดอยู่ใต้ล้อมีชื่อว่าตีนเป็ด แผ่นครีบนี้ทำหน้าที่กุยดินไม่ให้ลื่นขณะทำงาน  นอกจากนั้นยังช่วยพยุงไม่ให้รถจมในขณะที่ใช้งานในดินเหลว ล้อเหล็กนี้เหมาะสำหรับทำนาทำสวน เวลาเคลื่อนย้ายในการวิ่งบนถนนนั้น ควรใช้ล้อยางหรือใช้เหล็กวงกลมรัดแผ่นครีบของวงล้อ

1 ความคิดเห็น:

  1. สาเหตุของ โครงรถบางนา บีบแล้วไม่เลี้ยวเกิดจาก อะรัยคับ..ตอนทำนาส่วนใหญ่จะบีบเลี้ยวแต่ข้างซ้าย..พอนานๆไป บีบลงแต่แข็งคับ แล้วก็ไม่ค่อยเลี้ยว..ไม่เหมือนข้างขวาคับ บีบนิ่ม เลี้ยวง่าย..

    ตอบลบ